สาระน่ารู้ ชั่งตวงวัด

เครื่องวัดความยาว : ชนิดสายแถบโลหะ (Steel Tape) & ชนิดสายแถบโลหะที่ประกอบกับลูกดิ่ง (Dip Tape)

 

 

 เครื่องวัดความยาว :

ชนิดสายแถบโลหะ (Steel Tape) & ชนิดสายแถบโลหะที่ประกอบกับลูกดิ่ง (Dip Tape)
 
 
 
 
 
ช่วงนี้มีเรื่องเครื่องวัดความยาวตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของเครื่องวัดความยาว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด พ.ศ. 2561 เข้ามาให้ต้องตอบคำถามมาก อีกทั้งต้องทำความเข้าใจให้ทุกฝ่าย นอกจากนี้เครื่องวัดความยาวดังกล่าวยังต้องไปสัมพันธ์ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อมกันกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด และอายุคำรับรอง พ.ศ. 2561   ส่วนจะสัมพันธ์มากน้อยอย่างไร หรือประการใดก็ค่อยๆ ตามกัน..    ส่วนจะเขียนความรู้ทิ้งไว้ดีมากน้อยเพียงใดก็อย่าคาดหวังสูงเกินไป     เอาเป็นว่าจะพยายามเรียบเรียงเครื่องวัดความยาวจาก เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะ (Steel Tape) และ เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะที่ประกอบกับลูกดิ่ง (Dip Tape) ไปเกี่ยวตะขอกับ Automatic Level Gauge (ALG) หรือบางทีเรียกว่า Tank Gauging ของถังสำรองของเหลวผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม หรือถังสำรองจัดเก็บน้ำอ้อยดิบ, น้ำมันปาล์มดิบ, น้ำมันถั่วเหลือง และ ฯลฯ ซึ่งเชื่อมโยงจากอาหารไปยังพลังงาน โดยกำลังมีการปะทะตรงพรมแดนระหว่างอาหารกับพลังงาน ถือเป็นแนวปะทะเรื่อง Food Security ขึ้นมาและคงจะมีการปะทะกันจนกว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน (Fusion Power) สำเร็จ โน้น… ว่ากันเข้าไปมั่วๆ งง กันไปตามชาวเราชั่งตวงวัด กี่ปีมันก็มึนๆงงๆๆ จนเกษียณราชการไปก็จากไปยังมึนๆ งงๆ 5555
 
 
 
 
ชั้นความเที่ยงของเครื่องวัดความยาวตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ
          ตามที่กล่าวว่าประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ที่เราใช้บังคับในปัจจุบันตั้งอยู่บนพื้นฐาน OIML R 35-1 Edition 2007 (E) Material measures of length for general use ดังนั้นการจัดชั้นความเที่ยงจึงเป็นไปตาม OIML R35 – 2007   ขอให้ไปอ่านในรายละเอียดในประกาศทรวงพาณิชย์ฯ เองนะครับ เราจะไม่ลงรายละเอียด แต่เอาแต่กรอบหลักคิดจากเอกสาร OIML R35 – 2007  ว่า
          เราเลือกเอาเครื่องวัดความยาวที่ใช้งานโดยทั่วไปในชีวิตประจำวันของประชาชนชาวไทย ว่าควรมีคุณภาพชีวิต และสามารถเข้าถึงเครื่องวัดความยาวไว้ใช้งานตามสากลตลอดจนให้ผลการวัดความยาวด้วยความเที่ยงถูกต้องเที่ยงตรงได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจสังคมไทย สมควรเป็นเครื่องวัดความยาวในชั้นความเที่ยง II (Accuracy Class II)  ตาม OIML R35 – 2007   โดยมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด (MPE) สำหรับการให้คารับรองชั้นแรกระหว่างขั้นหมายมาตราสองขั้นหมายมาตราที่ไม่ติดกัน และระหว่างขั้นหมายมาตราศูนย์ถึงขั้นหมายมาตราสูงสุด เท่ากับ
 
MPE = ± (0.3 + 0.2 L)  มิลลิเมตร  : (Accuracy Class II)  
 
เมื่อ L เท่ากับค่าความยาวระหว่างขั้นหมายมาตรา โดยมีค่าเป็นเลขจำนวนเต็มของหน่วยเมตร ทั้งนี้ในกรณีที่ค่าความยาวดังกล่าวไม่เป็นเลขจำนวนเต็มให้ปัดค่าดังกล่าวขึ้นเป็นค่าของเลขจำนวนเต็มถัดไป นั้นหมายถึงหากระยะความยาวเท่ากับ 1.5 เมตรให้ปัดค่าความยาว 1.5 เมตรเป็น 2.0 เมตรก่อนแทนค่า L ในสูตร ดังนั้นระยะความยาวที่ 1.5 เมตรจะมี MPE = ± (0.3 + 0.2 (2)) = 0.7 มิลลิเมตร 
 
 
 
รูปที่ 1 ข้อ 4.2, OIML R 35-1 Edition 2007 (E) Material measures of length for general use
 
          ความคิดถัดมาก็คือการวางแผนให้มีโครงสร้างแบบมาตรา   เมื่อบัญญัติเครื่องชั่งตวงวัดใดเมื่อใช้งานตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 25 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ซึ่งฉบับดังเดิมคือพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 มันไม่จบเพียงแค่นั้น เราต้องเตรียมการและจัดหาแบบมาตรา วางแผนให้มีโครงสร้างแบบมาตรา  รวมถึงถ่ายทอดแบบมาตราโดยสามารถเชื่อมโยง (Traceability) ไปยังระบบเมตริกของโลกซึ่งราชอาณาจักรไทยหรือ “ประเทศสยาม” เข้าเป็นสมาชิก “Member States” ของอนุสัญญาระบบเมตริก (Metric Convention) และขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก สำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (BIPM) ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2455
ดังนั้นเราต้องจัดหา เตรียมการให้มีแบบมาตราเครื่องวัดความยาวที่มีความเที่ยงเพียงพอในการตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องวัดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ตามหน้าที่หรือไม่ ทั้งนี้ยังไม่ขอกล่าวถึงเทคโนโลยี ความเสถียร ความน่าเชื่อถือ ความยอมรับจากนานาชาติของคุรณสมบัติของแบบมาตราเดี๋ยวมันจะยาวไป   จึงขอเพียงพิจารณาเฉพาะในเทอมของจำนวนแบบมาตรา, พิกัดกำลังและชั้นความเที่ยงของแบบมาตราให้เพียงพอสำหรับการปฏิบัติราชการในทางปฏิบัติก่อน ดังนั้นจึงมุ่งไปที่เครื่องวัดชั้นความเที่ยง I (Accuracy Class I) OIML R35 – 2007   ทั้งนี้ก็เพราะมีมาตรฐานอย่าง OIML Recommendations เป็นที่ยอมรับทั่งในประเทศและระหว่างประเทศไว้เป็นหลังพิงฝา ใครจะมาว่าราชอาณาจักรไทยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไม่ได้ จากนั้นเราต้องคิดสูงขึ้นไปอีกหนึ่งขั้นคือแล้วเราจะเตรียมแบบมาตราที่มีขีดความสามารถที่จะตรวจเครื่องวัดความยาวชั้นความเที่ยง I ได้หรือไม่   ส่วนจะอยู่ในรูปแบบการพึ่งพาจากแหล่งภายนอก เช่นสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (NIMT) หรือเราทำเองก็ได้ว่ะ ร้อนวิชา หัวร้อน 555   พูดเล่น...    สุดท้ายเพื่อสามารถพึ่งพาตนเองให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดความราบรื่นในการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 (หรือเดิมคือพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466)   สุดท้ายชั่งตวงวัดจึงสร้างแบบมาตราที่มีขีดความสามารถตรวจสอบเทียบมาตราชั้นความเที่ยง I ดังกล่าว Thailand Made ครับ (ดูรูปที่ 2) ผู้รับจ้างท่านมีความเมตตามาก... ช่วยทำให้จนใกล้เคียงกับจินตภาพจากเครื่อง CNC และเครื่องกลึงโลหะตามประสาเด็กช่างกล  โดยให้หล่อฐานแบบมาตราจากเหล็กหล่อที่มีสัมประสิทธิ์การขยายตัวที่มีค่าน้อยที่สุดเท่าที่หาได้และงบประมาณที่ไปถึง ผลลัพธ์ที่ได้สำหรับเราพอใจสุดๆๆ และดีกว่าในหลายแง่มุมที่เราคาดหวังได้    อ้าวคราวนี้อยากจะคิดให้สูงขึ้นอีกขั้นต่ออีกหรือรวมกันเป็น 2 ขั้นเพื่อธำรงความเที่ยงของแบบมาตราไว้คือ..... ต้องมีแบบมาตราแสงเลเซอร์ มากำกับแบบมาตราดังในรูปที่ 2 เป็นชั้นถัดไปแต่ชั่งใจแล้วไม่เอาดีกว่าเพราะคุณภาพบุคลลากรและงบประมาณของส่วนราชการยากจะนิ่งนอนใจได้ ดังนั้นจบลงเพียงแค่แบบมาตราในรูปที่ 2 และต้องยอมรับและใช้บริการแบบมาตราจากแหล่งภายนอกโดยเล็งและเลือกบริษัทฯ ที่มีการสอบย้อนกลับไปยังสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติก็พอใจแล้วครับ ถือว่าปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดแบบมาตราชั้นหนึ่งตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นที่เรียบร้อย เราไม่บังอาจที่จะร่างกฎระเบียบเพื่อกำหนดให้แบบมาตราในรูปที่ 2 เป็นแบบมาตราชั้น 1 หรอกครับ   เพราะคิดว่ายังครองสติอยู่  ไม่ทำซ
 

 

                     

      

รูปที่ 2 แบบมาตรา Scale Calibrator และแบบมาตรา Height Gauge ของสำนักงานกลางชั่งตวงวัด
 

 

   

รูปที่ 3 แบบมาตรา Scale Calibrator และแบบมาตรา Height Gauge ของสำนักงานกลางชั่งตวงวัด
 
          ส่วนขั้นตอนการทำงานและขั้นตอนการคำนวณผลการสอบเทียบซึ่งใช้แบบมาตราดังในรูปที่ 2 และรูปที่ 3 สามารถไปหาได้ใน E-Docs ใน www.cbwmthai.org ชื่อ “ขั้นตอนการปฏิบัติงานสอบเทียบ SOP-LEN-202 เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่ง
 
 
 
 
 
เครื่องวัดความยาวตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ
          เพื่อให้เข้าใจตรงกันเราจะยึดเอาเอกสาร OIML R 35-1 Edition 2007 (E) Material measures of length for general use, Part 1: Metrological and technical requirements เป็นแกนหลัก   ทั้งนี้ก็เพราะตอนเราร่างตุ๊กกาตาในการจัดทำกฎกระทรวงฯ ฉบับเทคนิคฯ พ.ศ. 2546 จนพัฒนาปรับปรุงพยายามแตกแยกกฎหมายออกมาเป็นฉบับย่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเอกสาร OIML Recommendation ซึ่งภายใต้การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด (ฉบับ 3) พ.ศ. 2557 กำหนดให้ปรับรูปแบบการออกกฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติทางเทคนิคให้อยู่ในรูปของประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯแทนที่รูปแบบกฎกระทรวงพาณิชย์ฯ   เราก็ยังยึดเอา OIML R 35 เป็นเอกสารแกนกลางในการจัดทำร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ เช่นเดิม   จากนั้นเมื่อผ่านขั้นตอนการจัดทำกฎหมายจนเป็น “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของเครื่องวัดความยาว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด พ.ศ. 2561” ที่มีผลบังคับใช้แล้วเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2566)
          สำหรับเครื่องวัดความยาวตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ นั้นครอบคลุมเครื่องวัดความยาว 6 ชนิด ดังต่อไปนี้
(1)  เครื่องวัดความยาวชนิดบรรทัดตรง
(2)  เครื่องวัดความยาวชนิดพับได้
(3)  เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะม้วนกลับอัตโนมัติ
(4)  เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบที่ทาด้วยใยแก้วสังเคราะห์
(5)  เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะและโซ่
 
          แต่ในที่นี้ เราจะพูดคุยตัวที่มีปัญหาและต้องคอยตอบคำถามเป็นเครื่องวัด 3 ชนิด นั้นคือ
ก.        เครื่องวัดความยาวชนิดบรรทัดตรง (One-piece rigid measures หรือ Steel Ruler)  เครื่องวัดชนิดนี้ส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะ ปกติจะมีความยาวสูงสุดไม่เกิน 5 เมตร โดยประมาณ สามารถผลิตให้มีความเที่ยงอยู่ในชั้นความเที่ยง 1 และ 2   จุดเริ่มต้น 0 อยู่ที่ขอบซ้ายสุดของบรรทัดตรงนะอย่าลืม ก็เสมือนเส้นจำนวนจริงนั้แหละ
               สำหรับงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติของกฎหมาย  จะมีการใช้บรรทัดตรงให้เห็น สำหรับผู้ผลิตเครื่องวัดที่ต้องใช้แบบมาตราเครื่องวัดบรรทัดตรง ชั่งตวงวัดเองก็มีใช้บรรทัดตรงชั้นความเที่ยง I เช่นกัน เช่นในการวัดระดับความสูงของขีดพิกัดกำลังของถังตวงแบบมาตราหลังจากสอบเทียบแล้วเสร็จ หรือในบางกรณีจะมีบริษัทฯ ที่ประสงค์ขอรับการรับรองรับบริหารงานคุณภาพ ISO 9XXX และมีการใช้บรรทัดตรงโลหะในขบวนการผลิตสินค้า บริษัทฯ ดังกล่าวก็จะมายื่นสอบเทียบบรรทัดตรงโลหะกับเรา เราก็จะแนะนำให้หาบรรทัดตรงโลหะชั้นความเที่ยง I มาใช้งานหากประสงค์ให้เราสอบเทียบให้ไม่ใช่ไปเอาบรรทัดตรงโลหะหรือบรรทัดตรงโลหะที่ใช้งานทั่วไปมาใช้งานเนื่องจากเราทำหน้าที่ดูแลกำกับ และถ่ายทอดแบบมาตรา โดยยินดีที่ดำเนินการสอบเทียบเครื่องวัดความยาวให้แต่ต้องอยู่ภายในกรอบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของเราด้วยเช่นกัน   แต่หากบริษัทฯ ภาคเอกชนรายใดประสงค์และยืนยันที่จะใช้ไม้บรรทัดเหล็กฯทั่วไป เราก็จะแนะนำให้ไปหาห้องปฏิบัติการฯ ที่พอน่าเชื่อถือและได้รับระบบประกันคุณภาพ ISO 17025 และมีค่า CMC หรือ Uncertainty ตามที่บริษัทฯ ต้องการหรือพูดง่ายๆ ว่ามีสินค้าบริการที่ทดแทนกันได้เลือกเอาเอง ถือเป็นการ Outsource ๆๆๆๆ   สำหรับเวลา ณ จุดนี้ เรายอมรับว่าเราเองก็เริ่มไม่มั่นใจหรือเชื่อถือระบบ ISO 17025 มากเท่าไร บางครั้งมันวังเวง.. ปัญหามันวนกลับมาที่ “คนดีและคนเก่ง” เช่นเดิม   หากต้องการระบบที่ยังยืน
      
รูปที่ 4 ตัวอย่างบรรทัดตรง
 
 
ข.        เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะ (Steel Tape หรือ Flexible Steel Tape)   สายแถบโลหะจะทำด้วยโลหะที่ถูกรีดจนเป็นแถบโลหะและมีความยืดหยุ่นจนสามารถจัดเก็บเป็นม้วนเข้ากับแกนโลหะ เมื่อคลี่สายแถบโลหะออกมาจากม้วนแล้วยังคงรักษาสภาพเป็นเส้นตรงเมื่อแขวนไว้ในแนวตั้ง แต่ต้องมีน้ำหนักหรือแรงดึงไว้ เช่น 20N, 50N เป็นต้น ทั้งนี้โดยปกติแล้วผู้ผลิตจะระบุแรงดึงดังกล่าวไว้บนสายแถบโลหะ เมื่อใช้งานสายแถบโลหะแล้วเสร็จสามารถม้วนกลับเข้าที่เพื่อสามารถนำไปใช้งานวัดระยะในครั้งถัดไปได้   สำหรับความยาวของเครื่องวัดชนิดนี้มีความยาวตั้งแต่ 5 เมตร ถึง 200 เมตร  และสามารถผลิตให้มีความเที่ยงอยู่ในชั้นความเที่ยง I และ II   ส่วนรายละเอียดเงื่อนไข  ลักษณะของเครื่องวัดความยาวชนิดนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมใน OIML R 35-1 Edition 2007 (E) 
 

      

รูปที่ 5 สายแถบโลหะพร้อมที่ม้วนจัดเก็บแต่ละรูปแบบ
 
 
 
 
 
รูปที่ 6 ตัวอย่างสายแถบโลหะ
 
           การนำไปใช้งานด้านหนึ่งของเครื่องวัดความยาวชนิดนี้ที่เกี่ยวข้องกับงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติของกฎหมาย (Legal Metrology)  นั้นจะเชื่อมโยงไปยังมาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ, เชื่อมโยงไปยังปริมาตรถังสำรอง รวมถึงสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่ง หรือ Dip Tape ซึ่งถูกใช้ร่วมกับสายแถบโลหะเพื่อจัดทำ “ตารางประจำถังสำรอง (Tank Table)” (ดูรูปที่ 8 และรูปที่ 9) เป็นตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างระดับความสูงของเหลวภายในถังสำรองเทียบกับจุดอ้างอิง หรือ Dip Plate กับปริมาตรของเหลวที่จัดเก็บไว้ในถังสำรองนั้นๆ ดังนั้นการใช้งานของเครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะ (Steel Tape หรือ Flexible Steel Tape) บางครั้งก็อาจเรียกชื่อเป็นชื่อใหม่ว่า “Tank Strapping Tape”  
                                        
         
           
รูปที่ 7 ตัวอย่างการใช้สายแถบโลหะในการสอบเทียบจัดทำตารางประจำถังสำรอง
 
   
รูปที่ 8 ตัวอย่างตารางประจำถังสำรอง
 
รูปที่ 9 ตัวอย่างตารางประจำถังสำรอง
 
           สำหรับการจัดทำตารางประจำถังสำรอง (Tank Table) ยังไม่ได้อยู่ในขอบข่ายงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติของกฎหมายเนื่องจากเราไม่ได้กำหนดให้ปริมาตรของถังสำรองถือเป็นเครื่องตวงที่ถูกใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมตามมาตรา 25 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด ดังนั้นถือว่าเป็นช่องว่างอย่างหนึ่ง หรือความไม่ต่อเนื่องในการดูแลและกับกับงานชั่งตวงวัดของเรา   เนื่องจากเรากำกับดูแลแต่เฉพาะมาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ หรือ ALG  มันเลยลักลั่นกันอยู่ ส่งผลให้เราไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปทำการตรวจสอบว่าจัดทำ “ตารางประจำถังสำรอง (Tank Table)” ถูกทำการสอบเทียบปริมาตรของถังสำรองที่มีพิกัดความจุสูงๆ ดังกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่
           แต่อย่างไรก็ตามเราได้เขียนหนังสือ “ถังสำรองขนาดใหญ่รูปทรงแนวตั้ง” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอบเทียบปริมาตรของถังสำรองรูปทรงแนวตั้งที่มีพิกัดกำลังสูงมากดังในรูปที่ 19 และรูปที่ 20   ซึ่งต้องทำการสอบเทียบทั้ง “แบบเปียก (Wet Calibration)” และ “แบบแห้ง (Dry Calibration)” หรือเป็นการสอบเทียบแบบผสมคือช่วงความสูงหนึ่งบริเวณก้นถังสำรองจะเป็นแบบเปียก หลังจากนั้นก็จะเป็นแบบแห้ง หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมว่าจะสอบเทียบถังสำรองเพื่อจัดทำตารางประจำถังสำรองก็ไปอ่านในหนังสือ “ถังสำรองขนาดใหญ่รูปทรงแนวตั้ง” และ "ถังบรรจุของเหลวซึ่งติดตั้งอยู่กับที่ในรูปแบบทรงกระบอกในแนวนอน"   วีระศักดิ์, สาธิต สำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในตอนท้ายเล่มก็ได้สอดแทรกเรื่อง “มาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ” ให้เรียกน้ำย่อยๆ เพื่อให้เรียนรู้เพิ่มเติมต่อไป
ค.        เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะที่ประกอบกับลูกดิ่ง (Flexible steel tape measures with tensioning weight or sinker หรือ Oil Gauging Tapes หรือ Dip Tapes หรือ Sounding Tape)   จะเห็นว่าเครื่องวัดชนิดนี้มีชื่อเรียกขานกันมากมาย ดังนั้นจึงนำชื่อที่เขาเรียกขานกันแตกต่างหลากหลายเอามาลงให้มากเข้าไว้ทั้งนี้เพื่อจะได้เข้าใจกันว่ามันก็แซมๆๆ (same ๆ)  ยกตัวอย่างที่เราเรียกเครื่องวัดชนิดนี้ว่า “Sounding Tape” ก็เพราะตอนใช้งานวัดระดับของเหลวมันจะต้องใช้จุดอ้างอิงที่มีค่าระดับเท่ากับ “0” จะอยู่บน Dip Plate ซึ่งเชื่อมติดตั้งถาวรเข้ากับผนังถังสำรองบริเวณใกล้ก้นถัง เช่นอาจจะอยูสูงกว่าก้นถังประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นแผ่น Dip Plate ดังกล่าวได้เพราะของเหลวผลิตภัณฑ์น้ำมันบังมิด ดังนั้นเมื่อหย่อนลูกดิ่งหรือตุ้มถ่วงลงไปจึงต้องฟังเสียงตกกระทบกันระหว่างลูกดิ่งกับ Dip Plate หรือสายแถบโลหะมันตึงตัว ทั้งนี้เราก็สามารถประมาณความสูงในการหย่อนลูกดิ่งได้จากค่าระดับความสูงอ้างอิงที่เราตอกไว้บนหน้าแปลนท่อที่ต่อเข้าถังสำรองไว้   ดังนั้น Dip Tape จะถูกใช้งานเพื่อวัดระดับของเหลวภายในถังสำรองที่ถูกออกแบบใช้จัดเก็บของเหลวแบบถาวร  เช่น พวกถังสำรองน้ำมันในลานถัง (Tank Farms) ความยาวของเครื่องวัดชนิดนี้จะพบตั้งแต่ 5 เมตร ถึง 20 เมตร สามารถผลิตให้มีความเที่ยงอยู่ในชั้นความเที่ยง I และ II   ส่วนแรงดึงสายแถบโลหะให้ตึงอยู่ตลอดเวลาขณะใช้งานเกิดจากน้ำหนักลูกดิ่งหรือตุ้มถ่วง หรือ Bob ดังนั้นในการตรวจสอบน้ำหนักลูกดิ่งต้องชั่งในอากาศ แล้วมีผลผิดได้ไม่เกิน ±10 g    นอกจากนี้หากเราสังเกตุให้ดีเราจะพบว่า Sounding Tape ที่ใช้วัดระดับของเหลวผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภายในถังสำรองจะต้องทำด้วยวัสดุที่เมื่อกระแทกเข้ากับโลหะแล้วต้องไม่ก่อให้เกิดประกายไฟอย่างเด็ดขาด เพราะเขากลัวมันอาจเกิดโศกนาถกรรม ไฟไหม้ ดังนั้นลูกดิ่งที่ใช้งานในบริเวณดังกล่าวมักจะทำด้วยทองเหลืองหรือโลหะเจือทองเหลือง ไม่ควรใช้เป็นเหล็ก/เหล็กไร้สนิม แต่ถ้าเจ้าของลานถังไม่ว่าอะไรก็ว่ากันไปครับ   นอกจากนี้ลูกดิ่ง หรือ Tensioning Weight หรือ Sinker ความหลากหลายทั้งรูปแบบ น้ำหนัก และชนิดของโลหะของลูกดิ่ง (ดูรูปที่ 15) ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการนำไปใช้งานกับชนิดของเหลวที่มีความหนืดสูงต่ำมากน้อยเพียงใดหรือต้องใช้ระยะความสูงมากน้อยเพียงใด  ต้องการชั้นความเที่ยงของสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งใด หากเป็นชั้นความเที่ยง I การเข้าสายเชื่อมต่อระหว่างลูกดิ่งกับสายแถบโลหะจะเป็นแบบตายตัวดังในรูปที่ 10   ไม่สามารถถอดลูกดิ่งเข้าออกโดยใช้เป็นตะขอ Hook เกี่ยวไม่ได้เนื่องจากเป็นข้อจำกัดการออกแบบหากต้องการให้มีความเที่ยงถึงชั้นความเที่ยง I  มีให้ดูเปรียบเทียบดังในรูปที่ 11 นอกจากนี้ต้องศึกษาและเลือกใช้ลูกดิ่งหรือ Tensioning Weight ให้เหมาะสมกับงานทั้งรูปแบบและน้ำหนักด้วยเช่นกัน ไม่ใช่สนใจแต่เพียงชนิดวัสดุเพียงอย่างเดียว
    
รูปที่ 10 สายแถบโลหะประกอบลูกดิ่ง
 
 
        
รูปที่ 11 สายแถบโลหะประกอบลูกดิ่ง แบบติดตั้งลูกดิ่งถาวรและแบบถอดแยกลูกดิ่งได้
 
หากพิจารณารูปสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่ง หรือ Dip Tape ที่ปรากฏในเอกสาร OIML R 35-1 Edition 2007 (E) คือในรูปที่ 10 ทางซ้ายมือ เราจะพบว่าได้แสดงถึงความต่อเนื่องของขีดขั้นหมายมาตราตั้งปลายลูกดิ่งที่มีค่าความยาวเท่ากับ “ศูนย์” จากนั้นปรากฏขีดขั้นหมายมาตราบนลูกดิ่งอย่างต่อเนื่อง เมื่อระยะเลยลูกดิ่งไปล่วงเข้าสายแถบโลหะก็จะปรากฏขีดขั้นหมายมาตราต่อเนื่อง ไม่มีขาดตอน คือต่อเนื่องตลอดความยาวของสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่ง  ดังที่ระบุไว้ในข้อ 22.4, OIML R 35-1 Edition 2007 (E) ดูรูปที่ 10
 
 
 
แต่เราไม่สามารถกำหนดลักษณะสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ก็เพราะในชีวิตจริงๆ ภายในราชอาณาจักรไทยเรามีแต่การนำเข้าและใช้งานสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งที่มีลักษณะใช้อุปกรณ์ตาขอ (Hook) สำหรับเกี่ยวลูกดิ่งเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับสายแถบโลหะนั้นคือสามารถถอดเปลี่ยนลูกดิ่งหรือ Tension Weight เยอะมากเนื่องจากเมื่อใช้งานสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งไประยะเวลาหนึ่งปลายลูกดิ่งก็จะเสียหายหรือสูญหายไปในถังสำรองก็สามารถสั่งซื้ออะไหล่เฉพาะลูกดิ่งมาใช้งานได้ เราจึงเห็นสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งถูกใช้งานโดย Operator ประจำลานถังกันอย่างแพร่หลายและยาวนาน ดังนั้นบริเวณช่วงเชื่อมต่อระหว่างสายแถบโลหะกับลูกดิ่งดังกล่าวจะไม่ปรากฎมีมีขีดขั้นหมายมาตราต่อเนื่องตลอดตามความยาวสายแถบโลหะฯ แต่อย่างใด จึงเกิดการขาดตอนของขีดขั้นหมายมาตรา แต่ก็ยังพอดำเนินการไปได้หากเครื่องวัดความยาวดังกล่าวยังอยู่ในชั้นความเที่ยง II และใช้งานทั่วไปและต้องโชคดีหากระยะที่ต้องการวัดไม่ตกลงในบริเวณรอยต่อดังกล่าว   แต่หากตกลงบริเวณดังกล่าวก็ใช้พบรรทัดวัดระยะเอาจากแนวสีน้ำยาเปลี่ยน เอากันตามนั้น
ในกรณีของสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งที่อยู่ในชั้นความที่ยง I ก็ควรดีกว่านะ นั้นคือมีขีดขั้นหมายมาตราต่อเนื่องไม่ขาดตอนตั้งแต่ลูกดิ่งไปจนถึงสายแถบโลหะ  ส่วนรายละเอียดเงื่อนไข ลักษณะของเครื่องวัดความยาวชนิดนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมใน OIML R 35-1 Edition 2007 (E)   สำหรับเครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะที่ประกอบกับลูกดิ่งซึ่งมีส่วนประกอบตัวตรวจจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์จะไม่อยู่ในขอบข่ายนี้นะครับ
นอกจากนี้เรายังพบว่าก็มีผู้ผลิตบางรายพยายามให้มีขีดขั้นหมายมาตราต่อเนื่องไม่ขาดตอนตั้งแต่ลูกดิ่งไปจนถึงสายแถบโลหะ แต่บริเวณรอบต่อระหว่างลูกดิ่งกับสายแถบโลหะจะด้วยการออกแบบให้แข็งแรงหรืออย่างไรไม่ทราบ  แต่ดันมีแผ่นแสดงขีดขั้นหมายมาตราซ้อนกัน 3 แผ่น (ดูรูปที่ 12) นั้นหมายถึงเครื่องชั่งตวงวัดดังกล่าวมีส่วนแสดงค่า 3 ส่วนซึ่งส่วนแสดงค่าทั้ง 3 ต้องแสดงค่าเท่ากันตาม ข้อ 11 ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของเครื่องวัดความยาว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด พ.ศ. 2561 (ดูรูปที่ 13) และเมื่อทำการสอบเทียบสังเกตเห็นบางเครื่องเส้นขั้นหมายมาตรามันเหลื่อมกันเล็กน้อย มันก็สร้างปัญหากให้คาใจ และบังเอิญไม่ได้ดูอย่างใกล้ชิดตอนเครื่องอยู่ที่ห้องปฏิบัติการฯ แต่สังเกตุเห็นอีกอย่างว่าไม่มีข้อมูลพิกัดกำลังของเครื่องวัดความยาวชนิดนี้ปรากฏอยู่บนสายแถบโลหะฯ เอาไว้หากอยู่ในมืออีกครั้งจะตรวจสอบดูอีกครั้ง  และแล้วก็พบว่าไม่มีข้อมูลพิกัดกำลังบนสายแถบโลหะจริง  แต่พบเป็นลายมือคนมาเขียนเพิ่มเติมด้วยปากกาไฟฟ้าในภายหลัง
 
 
     
รูปที่ 12   เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะที่ประกอบกับลูกดิ่ง ทางค่ายยุโรป
 
 
 
 
รูปที่ 13   ข้อ 11, ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของเครื่องวัดความยาว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด พ.ศ. 2561
 
 
 
     
รูปที่ 14   เครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะที่ประกอบกับลูกดิ่ง ทางค่ายญี่ปุ่น (Grade 1, JIS B7512)
 
          นอกจากนี้เรายังพบอีกประเด็นที่ค่อนข้างปวดหัว นั้นคือการกำหนดสภาวะอ้างอิงของสายแถบโลหะฯ ซึ่งปกติจะกำหนดสภาวะอ้างอิง 2 ค่าด้วยกันคือ แรงดึงสายแถบโลหะขณะใช้งาน (Tension) และอุณหภูมิอ้างอิง (Reference Temperature) เราพบว่าการกำหนดสภาวะอ้างอิงในส่วนแรงดึงสายแถบโลหะฯ สำหรับการติดตั้งลูกดิ่ง หรือ Bob หรือ Tensioning Weight หรือ Sinker เข้ากับสายแถบโลหะโลหะอย่างถาวรไม่สามารถถอดออกมาได้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งที่มีชั้นความเที่ยง Class I (OIML R35) หรือ Grade 1 (JIS B7512)   ลองทำการเปรียบเทียบสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งจากค่ายยุโรป (ดูรูปที่ 13) กับค่ายญี่ปุ่น (ดูรูปที่ 14) พบเห็น 2 ลักษณะที่แตกต่างกันคือ ลักษณะแรกพบว่าค่ายทางยุโรปจะกำหนดสภาวะอ้างอิงในส่วนแรงดึงเท่ากับน้ำหนักลูกดิ่ง เช่นหากลูกดิ่งมีน้ำหนัก 700 กรัม จะกำหนดสภาวะอ้างอิงแรงดึงเท่ากับ 7N  (@ 0.7 kg * 9.81 m/s2) ไว้บนสายแถบโลหะฯ   ในขณะอีกฝั่งทางค่ายญี่ปุ่นใช้ตุ้มถ่วงหนัก เช่นหนัก 350 กรัม แต่กำหนดสภาวะอ้างอิงแรงดึง 20N ( N คือหน่วยแรงดึง นิวตัน) (อันนี้ต้องซูมขยายรูปที่ 14  จะเห็นตัวเลข 350 บนลูกดิ่ง  และ 20N บนสายแถบโลหะ  ซูม...)  ซึ่งไม่สอดคล้องกับแรงดึงของน้ำหนักลูกดิ่งเหมือนอย่างเช่นทางค่ายยุโรปทั้งที่มีการติดตั้งตุ้มถ่วงหรือลูกดิ่งเข้ากับสายแถบโลหะอย่างถาวรเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ค่ายกำหนดสภาวะอ้างอิงอุณหภูมิเท่ากัน คือ 20 °C ประการที่ 2 นั้นคือสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งค่ายยุโรปจะมีขั้นหมายมาตราเริ่มต้น “0” ที่ปลายลูกดิ่งแล้วประกฎขีดขั้นหมายมาตราต่อเนื่องจากลูกดิ่งลามเข้าสายแถบโลหะอย่างไม่ขาดตอน   ส่วนทางค่ายญี่ปุ่นจะเห็นได้ชัดเจนว่าขีดขั้นหมายมาตราขาดตอนไม่ต่อเนื่องหรือไม่ปรากฏขั้นหมายมาตราช่วงที่เป็นข้อต่อระหว่างลูกดิ่งกับสายแถบโลหะ แต่เนื่องจากค่ายญี่ปุ่นประกาศตนชัดเจนว่าสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งเป็นชั้นความเที่ยง Grade 1, JIS B 7512: 2005, Steel tape measures ส่วนทางค่ายยุโรปก็ประกาศตัวชัดเจนว่าสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งของตนเองเป็นชั้นความเที่ยง Class I, DIRECTIVE 2014/32/EU (เทียบเท่า OIML R35-2007)
 
                                       
รูปที่ 15.1 ความหลากหลายทั้งรูปแบบ น้ำหนัก และชนิดของโลหะของลูกดิ่ง
 
 
 
     
รูปที่ 15.2  ตัวอย่างปัญหาาการเข้าสายของลูกดิ่งกับสายแถบโลหะซึ่งจะเสียรูปทรง และอ่านผลการวัดค่าช่วงรอยต่อไม่ได้ เมื่อใช้งานไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง
 
 
 
 
       
รูปที่ 16 การนำสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งไปใช้งาน
 
สำหรับการนำ Dip Tapes ไปใช้งานโดยเจ้าหน้าที่ประจำลานถังจะดำเนินการวัดระดับถังสำรองแต่ละรูปแบบการออกแบบและก่อสร้างซึ่งแต่ละชนิดถังสำรองว่ามีปริมาตรของเหลวถูกจัดเก็บไว้ภายในถังสำรองมากน้อยเพียงใด เพื่อสามารถบริหารจัดการถังสำรองได้ตามที่ต้องการ โดยรูปแบบการวัดที่นิยมกันมี 2 รูปแบบคือแบบ “Innage” และ “Outage”  สามารถไปอ่านขั้นตอนการ Dip กาแฟ  ออ... ไม่ใช่  การ Tank Dip ใน www.cbwmthai.org หัวข้อสาระน่ารู้ชั่งตวงวัด ในบทความ "ความสูงระดับของเหลวภายในถังสำรองกับ สายแถบโลหะประกอบลูกดิ่ง" ส่งผลให้การเลือกใช้ประเภทชนิดของ Dip Tapes ก็ต้องให้เหมาะสมกับงาน   แต่สำหรับงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติของกฎหมาย (Legal Metrology) นั้น เราให้ใช้ Dip Tape ที่มีค่าเริ่มต้นเท่ากับ “ศูนย์” บริเวณด้านปลายของลูกดิ่งครับ จึงเป็นการบอกกลายๆว่าเป็นการวัดแบบ “Innage” ส่วนอีกวิธีหนึ่งดูเหมือนจะต้องใช้สายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งที่มีค่าเริ่มต้น “0” ไม่ได้มีตำแหน่งบริเวณปลายลูกดิ่ง   จึงทำให้สายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งประเภทนี้หลุดขอบข่ายไปจาก OIML R35 เนื่องจาก Dip Tape ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นเท่ากับ “ศูนย์” บริเวณด้านปลายของลูกดิ่ง
 
 
            
รูปที่ 17 การใช้สายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งแต่ละชนิดตาม API MPMS, Chapter 3—Tank Gauging, Section 1A :  2005  
 
 
รูปที่ 18 คำนิยามที่ใช้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฯ ALG (OIML R85 – 2008)
 
          สำหรับเหตุที่ความยาวของเครื่องวัดชนิดนี้ หรือ Dip Tape จะพบตั้งแต่ 5 เมตร ถึง 20 เมตร หรืออาจเลยจนมีค่าความยาว 30 เมตร ทั้งนี้ก็เพราะ Dip Tape ถูกผลิตมาเพื่อใช้กับงานวัดระดับของเหลวภายในถังสำรองดังนั้นความยาวที่ถูกผลิตออกมาจึงสอดคล้องกับขนาดพิกัดกำลังความจุปริมาตรของถังสำรองมีค่าเท่าใด ถังสำรองดังกล่าวสามารถมีความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางถังสำรองตั้งแต่ 3 เมตร จนไปถึง 80 เมตรและมีความสูงถังสำรองตั้งแต่ 4 เมตร จนถึง 15 เมตร หรืออาจเลยไปจนถึง 20 เมตร ดังปรากฏในรูปที่ 19 และรูปที่ 20 เพื่อใช้เพียงเป็นแนวคิดให้เห็นภาพคราวๆ ทั้งนี้ข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยก็ต้องสืบค้นกันต่อไปเอาเป็นว่าค้นใหได้เท่านี้
 
 
รูปที่ 19 การจำแนกชนิดรูปแบบถังสำรองในการออกแบบก่อสร้างตามขนาดความจุปริมาตรของเหลว
 
 
 
รูปที่ 20 ความสูงเทียบกับเส้นผ่านศูนย์กลางและปริมาตรความจุของเหลวของถังสำรอง ในภาพคราวๆ เพื่อใช้ในการประเมินการใช้สายแถบโลหะประกอบลูกดิ่ง
 
 
ดังนั้นหากมีการนำเข้าเครื่องวัดความยาวตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯเข้ามาราชอาณาจักรไทย ด้วยพิกัดศุลกากรที่ระบุไว้เอกสารการนำเข้า เครื่องวัดดังกล่าวจะถูกกักไว้ที่ด่านศุลกากร จนกว่าได้รับหนังสือสั่งปล่อยออกจากด่านฯ จากชั่งตวงวัด และต้องนำเครื่องวัดดังกล่าวมารับการตรวจสอบให้คำรับรองภายในเวลาที่ระบุไว้ในอนุบัญญัติ ก็ว่ากันไปในรายละเอียด แต่ต้องได้รับการตรวจสอบให้คำรับรองก่อนนำไปใช้งานตามเจตนาและวัตถุประสงค์ปรากฎในพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542  แม้เครื่องวัดทั้ง 3 ชนิดได้ผ่านการตรวจสอบให้คำรับรอง (Verification) แล้วแต่ผู้ครอบครองเครื่องวัดความยาวดังกล่าวยังต้องการใบรายงานผลการสอบเทียบจากการสอบเทียบ (Calibration) เพิ่มอีก 1อย่าง  ซึ่งชั่งตวงวัดเองก็ยินดีที่จะดำเนินการให้  (เสมือนเป็นพระจะปัดกิจนิมนต์โยมได้อย่างไร) แต่เพื่อไม่ให้เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนภายในหน่วยเดียวกันที่จะต้องมาดำเนินการสอบเทียบ (Calibration) เพิ่มขึ้น อีกทั้งไม่ขัดกับหลักการทำงานที่ว่า ในการที่จะโยนเครื่องชั่งตวงวัดที่มีความเที่ยงสูงเพื่อใช้งานในระดับเป็นแบบมาตรา (Standard) เข้าในระบบเศรษฐกิจและสังคมราชอาณาจักรไทย เครื่องชั่งตวงวัดนั้นๆต้องมีความเที่ยงอย่างน้อยสุดเทียบเท่ากับแบบมาตราชั่งตวงวัดของเราชั่งตวงวัด   เนื่องจากเราก็ใช้เครื่องมือและแบบมาตราชุดเดียวกันนี้เองในการทำหน้าที่ดูแลรักษาแบบมาตราและถ่ายทอดแบบมาตราของชั่งตวงวัดเพื่อให้ชั่งตวงวัดสามารถมีแบบมาตราที่ถูกต้องเที่ยงตรงน่าเชื่อถือ เพื่อนำไปบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 ทั้งงานด้านตรวจสอบให้คำรับรอง (Verification) และด้านสำรวจตรวจสอบ (Inspection) เครื่องชั่งตวงวัด ด้วยเหตุนี้
 
“เครื่องชั่งตวงวัดที่เราตรวจสอบความเที่ยงจึงต้องมีความเที่ยงสูงในระดับเป็นแบบมาตราชั่งตวงวัด (Standards)”
         
         ต่างจากนี้ก็ขอให้ไปเลือกใช้บริการทดแทนจากห้องปฏิบัติการฯ เอกชน หรือสมาคมหรือ ฯลฯ   แต่เรื่องมันก็อลเวง วุ่นวายกันไปหมด เพราะไม่เคยมีปรากฏการณ์นี้มาก่อน  สงสัยคนบ้าอย่างเรายังไม่ปรากฎตัว แต่ตอนนี้คนบ้าและยอมโดยด่าปรากฏตัวแล้วครับ  ผู้นำเข้าเครื่องวัดความยาวก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจว่าเครื่องวัดความยาวชั้นความเที่ยงสูงในระดับเป็นแบบมาตรา จะต้องมีการสั่งซื้อจากแหล่งใด ต้องมี Specification อย่างไร ต้องตรวจสอบการส่งมอบกันอย่างไร เจ้าของ Brand นี้ มันน่าเชื่อถือหรือว่ามีแต่ราคาคุยแต่เครื่องวัดความยาวคุณภาพแสนแย่ๆๆๆ  ต้องมีระบบประกันคุณภาพในการจัดซื้อ หรือจัดซื้อพร้อมใบรายงานผลการสอบเทียบและรับรองชั้นความเที่ยงมาเลยยิ่งดี  หรือจะสั่งซื้อเครื่องวัดอย่างเดียวหรือต้องการใบรายงานผลจากผู้ผลิตเลย หรือจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองระบบประกันคุณภาพ ISO 17025 อย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ หรือนอกจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองระบบประกันคุณภาพ ISO 17025 แล้วห้องปฏิบัติฯ ดังกล่าวต้องมี CMC น้อยกว่า 1 ใน 3 ของอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเครื่องวัดความยาวที่มีความเที่ยงในระดับบแบบมาตราหรือเปล่า และ ฯลฯ มากมาย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องหันกลับมาเรียนรู้และเปิดใจ พัฒนาขีดความสามารถตนเองยกระดับความรู้ความสามารถ และปรับจูนการทำงานด้วยกันระหว่างท่านกับชั่งตวงวัด หากไม่เข้าใจก็เข้ามาพูดคุยแก้ไขปัญหาด้วยกัน ไม่ต้องชวนผมไปกินข้าวเพื่อแก้ไขปัญหาเพราะเรามันหัวแข็งหาคนมากล่อมเราให้คล้อยตามยากมาก ยกเว้นลูกเมียที่เคารพ.... อย่างทำตัวตกใจตื่นขึ้นมาแล้วทำหนังสือร้องเรียนชั่งตวงวัดโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ไอ้เสือถอย...5555
 
 
 
 
มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องวัดความยาวตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ที่เราควรรู้
          เราจะพบว่าหน่วยงานสากลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานทางอุตสาหกรรมหรือทางกฎหมายได้พยายามปรับปรุงการกำหนดมาตรฐานให้เข้าหากันจนให้กลายเป็นมาตรฐานเดียวร่วมกัน เช่น OIML กับ ISO ได้พยายามปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานมาตรวัดปริมาตรน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 50 °C แถบจะเหมือนกันทุกตัวอักษร เป็นต้น แต่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าภายในฌโลกใบนี้จะเขียนมาตรฐานแล้วเกิดปรากฏการร์ที่ทำให้มีลักษณะ Standard Convergent หรือ Standard Divergent  มากน้อยเพียงใด มีกี่เอกสารมาตรฐานก็ขอให้ติดตามดูกันไป    อย่างที่กล่าวย้ำอยู่เสมอว่าสำหรับงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติของกฎหมาย (Legal Metrology)  ภายในราชอาณาจักรไทย เราต้องอยู่ในสังคมโลกไม่ได้อยู่คนเดียวดังนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทย เราต้องเดินในแนวทางเดียวกับ OIML อย่าเดินออกนอกลู่นอกทาง จนก่อให้เกิดเครื่องคัดขนาดมะนาว เครื่องคัดขนาดไข่ไก่ไข่เป็ด เครื่องคัดขนาดทุเรียนหมอนทอง เครื่องคัดขนาดลำใยพันธ์กะโหลก ฯลฯ อีกในอนาคต เนื่องจาก เหว... มันรออยู่ข้างหน้า  หลังจากคัดขนาดพืชผลทางการเกษตรดังกล่าวแล้วค่าที่วัดได้นำไปสู่กิจกรรมและวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 25 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 หรือเปล่าละ   หรือมันถูกใช้ประกอบร่วมกับเครื่องชั่งดังเช่นเครื่องวัดความชื้นธัญญพืชหรือเครื่องชั่งวัดเปอร์เซ็นต์แป้งโปเตโต้เพื่อกำหนดราคาซื้อขายข้าวเปลือกข้าวสาร หรือมันสำปะหลังตามลำดับ..   หรือมันใช่เป็นการใช้เครื่องชั่งตวงวัดเพื่อทำการตีมูลค่าสินค้าและบริการได้เลยหรือเปล่าละก็ใช่ที่   มันลุแก่อำนาจหรือเปล่าละ.....   และ  ฯลฯ     ดังนั้นอย่าทิ้งบาปกรรมให้กับราชอาณาจักรไทยเหมือนเช่น เครื่องชั่งน้ำหนักเปอร์เซ็นต์มันสำปะหลัง หรือเปอร์เซ็นต์แป้งมันฝรั่ง Potato  กันแน่เพราะไม่มีหนูตัวไหนกล้าไปผูกกระพวนบนคอแมวบ้าบิ่นหรอกครับ หรือในทางกลับกัน   ก็จะพยายามหัดหลับตาข้างหนึ่งแล้วเช่นกัน แต่มันละอายใจตนเอง    ขอโทษหากอ่านแล้วไม่สบายใจแค่ทำหน้าที่ข้าราชการ..... เข้าเรื่องต่อ...  มาตรฐานที่เกี่ยวข้องและต้องให้ความสนใจ
1.       OIML R 35-1, Edition 2007 (E), Material measures of length for general use, Part 1: Metrological and technical requirements  เป็นเอกสารหลักที่เรายึดในการจัดทำ “กฎกระทรวงพาณิชย์ฯ” ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน   แม้จะปรับเปลี่ยนระดับความยากในการแก้ไขปรับปรุงลดลงจาก “กฎกระทรวงพาณิชย์ฯ” เหลือในระดับ “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ” แล้วก็ตาม เราก็ยังยึดเอกสาร OIML เป็นหลักในการจัดทำ   ดังนั้นหากใครที่คิดเบี่ยงเบนไปจากเอกสาร OIML ก็ต้องมีเหตุผลมากเพียงพอ อีกทั้งต้องตอบให้ได้ว่าเมื่อกระทำการดังกล่าวแล้วประยชน์ที่เกิดขึ้นได้ตกลงกับประชาชนชาวไทย ในกรณีบทความนี้และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของเครื่องวัดความยาว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด พ.ศ. 2561 เราใช้ OIML R35 เป็นเอกสารพื้นฐานหลัก โดยOIML R35 - 2007 กำหนดให้เครื่องวัดความยาวแบ่งออกเป็นชั้นความเที่ยง 3 ชั้น คือ Accuracy Class I, II และ III
2.       NIST Handbook 44 – 2020, Specifications, Tolerances, and Other Technical Requirements for Weighing and Measuring Devices เป็นเอกสารสำหรับใช้ในงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติของกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นประเทศที่แปลกเพราะเซ็นต์สนธิสัญญาเมตริก ว่าจะใช้หน่วย SI Units แต่ในทางปฏิบัติกลับไปใช้หน่วยวัดแบบอังกฤษ (Imperial Units)   จาก NIST Handbook 44 – 2020, Section 5.52 Linear Measures กำหนดให้เครื่องวัดความยาวมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ดังในตารางข้างล่าง ส่วนรายละเอียดก็ไป Download เอกสารดังกล่าวจาก Internet  แต่อย่างลืมแปลงหน่วย ฟุต เป็นเมตร หรือเซนติเมตร หรือมิลลิเมตร ก็ว่ากันไป   สหรัฐอเมริการเขาใหญ่จริงเซ็นต์สนธิสัญญาอะไรก็ไม่ต้องปฏิบัติตามไม่มีใครเขาไปจัดการ นี้สิเค้าใหญ่จริงๆๆๆ พับผ้า...เรียบร้อย
 
 
 
 
3.       DIRECTIVE 2014/32/EU OF THE EUROPEAN PARLIAMENT AND OF THE COUNCIL of 26 February 2014 on the harmonisation of the laws of the Member States relating to the making available on the market of measuring instruments (recast)   ถือว่ากฎหมายสำหรับงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติกฎหมาย ของกลุ่มประเทศในยุโรปหรือสหภาพยุโรป (European Union - EU) ที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกฎหมายเดียวร่วมกันภายในสหภาพยุโรป สำหรับเครื่องวัดความยาวที่เรากำลังให้ความสนใจและอยู่ภายในกรอบบทความเรานี้ คือ DIRECTIVE 2014/32/EU, ANNEX X MATERIAL MEASURES (MI-008)   กำหนดให้เครื่องวัดความยาวแบ่งออกเป็นชั้นความเที่ยง 5 ชั้น คือ Accuracy Class I, II, III, D และ S โดยชั้นความเที่ยง I, II และ III   เทียบเท่ากับ ชั้นความเที่ยง I, II และ III ตาม OIML R35 แต่ที่แปลกดันมีชั้นความเที่ยงพิเศษ คือ D สำหรับ Dip Tape และชั้นความเที่ยง S สำหรับ Strapping Tape หรือแถบโลหะที่ใช้วัดขนาดถังสำรองเพื่อใช้ในการหาปริมาตรความจุถังสำรอง หรือใช้ในการจัดทำตารางถังสำรอง หรือ Tank Table นั้นเอง
 
 
          ส่วนในรายละเอียดอื่นๆ ขอให้ไปอ่านเพิ่มเติมเอง ขอเอาภาพรวมหลักก่อนนะ
 
4.       API Manual of Petroleum Measurement Standards, Chapter 3—Tank Gauging, Section 1A—Standard Practice for the Manual Gauging of Petroleum and Petroleum Products, SECOND EDITION, AUGUST 2005   เป็นเอกสารมาตรฐานที่ใช้ในงานทางอุตสาหกรรมด้านปิโตรเลียม ถือเป็นมาตรฐานที่มีอิทธิพลต่อการทำงานสูงเช่นกัน ซึ่งได้กำหนด Dip Tape และแบบมาตราอ้างอิงสำหรับใช้ตรวจสอบ Dip Tape เพื่อใช้งานร่วมกับเครื่องวัด Tank Gauging (TG) หรือเครื่องวัด Automatic Level Gage (ALG) ซึ่งอย่างที่เคยกล่าวไว้ว่า แต่ละสถาบัน แต่ละประเทศ แต่ละมาตรฐานเขาจะมีการเรียกชื่อที่แตกต่างกันไปตามพื้นฐานความรู้และวิชา หรือรากเหง้าของแต่ละมาตรฐาน ซึ่งใน API MPMS Chapter 3, 1A, APPENDIX A—TAPE COMPARISON AGAINST A TRACEABLE REFERENCE STANDARD, A.1.2 ACCURACY REQUIREMENTS OF WORKING TAPES/BOBS และ A.1.3 ACCURACY REQUIREMENTS OF REFERENCE STANDARD นั้นยอมให้ Dip Tape มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดได้ไม่เกิน ±2 mm (หรือ ±1/16 นิ้ว) ด้วยค่าคงที่ตลอดช่วงความยาวตั้งแต่ 0 ถึง 30 เมตร (หรือ 0 ถึง 100 ฟุต)    และหากเทียบกับ Dip Tape ชั้นความเที่ยง “D” ตามDIRECTIVE 2014/32/EU ยอมให้ Dip Tape มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดได้ไม่เกิน ±1.5 mm ด้วยค่าคงที่ตลอดช่วงความยาวตั้งแต่ 0 ถึง 30 เมตร (หรือ 0 ถึง 100 ฟุต) ซึ่งน้อยลงไปอีก ไม่ทราบว่าเค้าจะขิงใส่กันหรือเปล่า อันนี้ต้องเข้าไปแอบบฟังตอนเขาร่างกฎหมายกัน (ส่งกะสัยจะยาก)
 
 
          ส่วนความเที่ยงของแบบมาตรา (Reference Standard) ทาง API MPMS Chapter 3, 1A กำหนดเพียงว่าต้องมีค่า Uncertainty ไม่เกินกว่า ±0.3 mm   ก็ขอชวนกันคิดเล่นๆกันต่อว่าหากเรายึดองค์ประกอบของอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด
MPE = Error ± Uncertainty = 2/3 MPE ± 1/3MPE
 
หากเป็นเช่นนั้นเราพออนุมานได้ว่าแบบมาตราน่าจะมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 0.3 มิลลิเมตร * 3 = 0.9 มิลลิเมตร ซึ่งดีกว่า Dip Tape ซึ่งตาม OIML ชั้นความเที่ยง I เทียบที่ 30 เมตรแล้วจะมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเท่ากับ 3.1 มิลลิเมตร   แต่ขอให้คิดเล่นก่อนนะ เราไม่จริงจัง....
5.   JIS B 7512: 2005, Steel tape measures เป็นมาตรฐานทางด้านอุตสาหกรรมของทางค่ายญี่ปุ่นเช่นเดียวกับ มอก. (TIS) ของราชอาณาจักรไทยนั้นแหละ JIS ได้กำหนดให้เครื่องวัดความยาวที่เรากำลังสนใจในบทความนี้แบ่งเป็นชั้นความเที่ยง 2 ชั้นคือ  Grade 1 และ Grade 2   ซึ่งจะมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดต่างกันออกไปและไม่ตรงกับเอกสารมาตรฐานที่กล่าวก่อนหน้านี้โดยเฉพาะกับ OIML R35   ซึ่งเราก็ต้องค่อยๆ ปรับใช้และเรียนรู้
 
 
 
 
    
รูปที่ 21 ตัวอย่าง Dip Tape (Nihon Doki, Grade 1)
 
จากที่ได้ยกเอกสารที่เกี่ยวข้องมาให้พิจารณาโดยมีทั้งเอกสารมาตรฐานทั้ง 5 มีทั้งใช้ในงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติของกฎหมาย (Legal Metrology) นั้นคือ OIML R35, HB44 และ DIRECTIVE 2014/32/EU และเอกสารที่เป็นมาตรฐานทางด้านอุตสาหกรรม คือ API และ JIS  เราก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมให้รอบคอบเพราะมีหลายเรื่องที่ความสอดคล้องและสอดรับ และมีหลายเรื่องที่มีหลักคิดที่แตกต่างกัน แต่ที่แน่ๆ ราชอาณาจักรไทยเราควรมุ่งหน้าไปตามทิศทางของ OIML น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดในเวลานี้ครับ
 
 
 
 
การนำบรรทัดตรงโลหะ, สายแถบโลหะและสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งไปใช้งาน
          ภายใต้พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 เครื่องวัดความยาวในบทความนี้เรายึดหลักตาม “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของเครื่องวัดความยาว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด พ.ศ. 2561” ซึ่งอยู่พื้นฐาน OIML R 35-1, Edition 2007 (E), Material measures of length for general use, Part 1: Metrological and technical requirements  ให้เครื่องวัดความยาวที่มีกิจกรรมตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 มาตรา 25 ให้ใช้เครื่องวัดฯชั้นความเที่ยง II   โดยจัดโครงสร้างแบบมาตราให้มีแบบมาตราเครื่องวัดอยู่ในชั้นความเที่ยง I หรือดีกว่า ใช้เป็นแบบมาตราในการตรวจสอบให้คำรับรองเครื่องวัดความยาวที่ใช้งานดังกล่าวซึ่งอยู่ในชั้นความเที่ยง II    ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามชั้นความเที่ยงในตารางในรูปที่ 22 ออ   ระมัดระวังเรื่องเครื่องหมายในตาราง “,” คือ “.” เนื่องจากเป็นเอกสารของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดของเครื่องวัดความยาวชั้นความเที่ยง I เทียบกับอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดของเครื่องวัดความยาวชั้นความเที่ยง II ได้ประมาณ ½  เองซึ่งตามหลักการในวิชาชีพชั่งตวงวัดแล้วเราจะให้ค่าสัดส่วนดังกล่าวต้องเท่ากับ 1/3 หรือน้อยกว่าในการเลือกแบบมาตราเพื่อใช้สำหรับงานตรวจสอบให้คำรับรอง (Verification) แต่หากว่าในโลกใบนี้มีมาตรฐานเท่านี้ และใช้งบประมาณเท่าที่มีในการจัดหาแบบมาตราสำหรับประเทศที่ไม่รวยมากนักก็ถือว่าพอยอมรับได้   แต่เช่นเคยชั่งตวงวัดก็ต้องเตรียมการแบบมาตราสูงขึ้นไปอีก 1 ชั้นด้วยกันแบบมาตราดังกล่าวจะถูกใช้ในการตรวจสอบความเที่ยงหรือสอบเทียบ (Calibration) สำหรับเครื่องวัดความยาวชั้นความเที่ยง I ตามรูปที่ 2 และรูปที่ 3 ซึ่งเราได้กล่าวไปแล้ว
 
 
 
รูปที่ 22 อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเครื่องวัดความยาวตามชั้นความเที่ยง OIML R35
 
 
ในขณะเดียวกันเรายังใช้สายแถบโลหะประกอบลูกดิ่ง หรือ Dip Tape ชั้นความเที่ยง I ตาม OIML R35 เป็นแบบมาตราในการตรวจสอบให้คำรับรองมาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ หรือ Automatic Level Gauging (ALG) หรือ Tank Gauge (TG) ซึ่งมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตาม “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด และอายุคำรับรอง พ.ศ. 2561” ดังในรูปที่ 23
 
 
รูปที่ 23   อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ALG ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด และอายุคำรับรอง พ.ศ. 2561
 
 
ยกตัวอย่างเช่น ในการตรวจสอบให้คำรับรองมาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ หรือ Automatic Level Gauging (ALG) หรือ Tank Gauge (TG) ซึ่งติดตั้งประจำถังสำรองที่มีพิกัดกำลังสูงสุด 15 เมตร นั้นคือวัดความสูงของเหลวโดยประมาณตั้งแต่ 0 ถึง 15 เมตร จะมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 4 มิลลิเมตรคงที่ตลอดช่วงระยะดังกล่าว   ในขณะที่เครื่องวัดความยาว Dip Tape หรือ Sounding Tape หรือสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งชั้นความเที่ยง I ตาม OIML R35 ถูกใช้เป็นแบบมาตราในการตรวจสอบให้คำรับรอง  ดังนั้นที่ความยาว 15 เมตรสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งแบบมาตราชั้นความเที่ยง I จะมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 1.6 มิลลิเมตร   เมื่อทำการเปรียบเทียบสัดส่วนอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดของเครื่องวัดความยาว Dip Tape ชั้นความเที่ยง I เทียบกับอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดของมาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ จะได้เท่ากับ 1.6 มิลลิเมตร /4 มิลลิเมตร = 0.4 น้อยกว่า ½ แต่ไม่น้อยกว่า 1/3   ทำอย่างไรได้ละ เราสามารถจัดหาแบบมาตราได้เพียงเท่านี้   ตามสากลประเทศ    แต่ระวังนะว่า Dip Tape ที่เราใช้เป็นแบบมาตรานั้นมันชั้นความเที่ยง I จริงๆๆๆๆๆ   ไม่ใช่พอผู้ที่เกี่ยวข้องส่งใบรายงานผลสอบเทียบ Dip Tape มา ไม่ดูตาม้าตาเรือยอมให้ใช้สายแถบโลหะฯ ดังกล่าวเป็นแบบมาตราทันที่โดยไม่ได้ทำการตรวจทานใบรายงานผลการสอบเทียบ Dip Tape เสียก่อนว่ามันอยู่ในชั้นความเที่ยง I หรือไม่?????   บางที่มันอาจมีผลการสอบเทียบอยู่ในชั้นความเที่ยง II หรือ III ละคราวนี้ งานนี้...ถังอุจจาระระเบิด..... ตัวใครตัวมันนะครับ   ชีวิตรับราชการก็มีความเสี่ยงขึ้นมาทันที ต้องรับความเสี่ยงกันเองครับ............ ยกตัวอย่างเช่น ที่ระยะ 15 เมตร ALG มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด 4 มิลลิเมตร ในขณะที่ Dip Tape ชั้นความเที่ยง I, II และ III จะมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเท่ากับ 1.6, 3.3 และ 6.6 มิลลิเมตรตามลำดับที่ความสูงดังกล่าว   จะเห็นได้ค่าหาก Dip Tape อยู่ชั้นความเที่ยง II ก็มีผลผิดหรืออัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด (3.3 มิลลิเมตร) ที่ไม่เพียงพอแยกแยะผลผิด ALG (4.0 มิลลิเมตร) แล้วดังนั้นถ้าเราพลาดไปใช้หรือเกิดเลือกใช้ Dip Tape อยู่ชั้นความเที่ยง III ที่ระยะความยาว 15 เมตรก็มีผลผิดปาเข้าไปแล้ว 6.6 มิลลิเมตร แล้วจะนำไปตรวจสอบให้คำรับรองมาตรวัด ALG ที่ยอมให้มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเมื่อติดตั้งเข้าระบบถังเก็บ 4.0 มิลลิเมตรได้อย่างไร?   จึงเกิดปรากฎการณืที่ว่าตรวจสอบให้คำรับรองกี่ปีกี่ชาติผลการตรวจสอบให้คำรับรองฯ มันก็ “ผ่าน” อยู่ร่ำไร  งานนี้ก็ดูไม่จืด..... เปรี้ยวจี๊ด...... เค็มปืด.... ขมปากป๊าด......   เท่าที่ทราบ...
          งานนี้ชั่งตวงวัดเราๆ และหากต้องการปฏิบัติงานด้วยมาตรฐานที่สมควรแก่เหตุ เมื่อได้รับใบรายงานผลการสอบเทียบเครื่องวัดความยาว Dip Tape ก่อนที่จะนำ Dip Tape ไปใช้งานไม่ว่าจะใช้เป็นแบบมาตราหรือใช้งานปกติทั่วไปก็ต้องตรวจทานผลการสอบเทียบจากใบรายงานผลสอบเทียบที่ได้รับมาเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องวัดมันมีความเที่ยงอยู่ในชั้นความเที่ยงใด เนื่องจากห้องปฏิบัติการฯ ที่เราท่านไปส่ง Dip Tape ไปให้ทำการสอบเทียบนั้น เมื่อห้องปฏิบัติการฯดำเนินการสอบเทียบแล้วเสร็จ ห้องปฏิบัติการฯ เพียงแต่บอกว่าเครื่องชั่งตวงวัดที่ส่งไปนั้นมีความเที่ยง และผลผิด มากน้อยเพียงใดภายใต้ค่าความไม่แน่นนอนในการวัดเท่านี้เท่านั้น ว่ากันไป...   แต่ทางห้องปฏิบัติการฯ ดังกล่าวไม่มีหน้าที่ Reject หรือไม่รายงานผลการสอบเทียบเครื่องชั่งตวงวัดหากเป็นเครื่องชั่งตวงวัดที่มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเกินชั้นความเที่ยง II สำหรับใช้งานทั่วไป ตามที่ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ กำหนด   และแน่นอนว่าจะไม่ Reject หรือไม่รายงานผลการสอบเทียบเครื่องชั่งตวงวัดที่เราคาดว่าจะนำมาใช้เป็นแบบมาตราหรอกครับถึงแม้มีค่าอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดมากว่าชั้นความเที่ยง I ก็ตาม เพราะห้องปฏิบัติการฯ เค้าเก็บค่าบริการทุกเม็ดครับ เขาทำธุรกิจครับ เขาไม่ใช่ทำการกุศลแต่อย่างใด ค่าแรงก็ต้องเสีย ค่าไฟฟ้าก้ต้องเสีย เงินก็ต้องลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการ เงินก็ต้องจ่ายค่าเครื่องมืออถปกรณ์ ต้องใช้เงินและเวลาในการอบรมบุคคลากรให้มีขีดความสามารถได้เพียงต่อทำงานสอบเทียบได้ ฯลฯ   เขาตรวจสอบได้ผลอย่างไรก็รายงานผลตามที่ตรวจเจอนั้นคือวิถีการทำธุรกิจการให้บริการ.... ไปว่าเขาไม่ได้อย่างเด็ดขาด      ส่วนห้องปฏิบัติฯ ชั่งตวงวัดของเราต้องทำหน้าที่สวมหมวก 2 ใบคือทำการสอบความเที่ยงแบบมาตราและกำกับดูแลบังคับใช้พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศง. 2542   ดังนั้นเรา Reject เครื่องชั่งตวงวัดที่มีลักษณะและมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดที่ไม่เหมาะจะถูกนำไปใช้งานในฐานะ “แบบมาตรา (Standards)” และแน่นอนครับเราก็เขียนกฎกระทรวงพาณิชย์ฯ ไม่คิดค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมใดๆ เพื่อบรรเทาจิตใจของผู้ครอบครองเครื่องชั่งตวงวัดที่ไม่ผ่านการสอบเทียบและถูก Reject ไป  เราก็คำนึงและห่วงใยความรู้สึกของทุกท่านอยู่เสมอ....      นอกจากนี้เนื่องจากชั่งตวงวัดเองก็ไม่ใช่อยู่ในกลุ่มหน่วยงานรัฐที่ต้องหารายได้เข้ารัฐ (พอคุยเรื่องนี้อาจมีประเด็นหรือขัดหลักการการทำงานไม่คุ้มต้นทุนดำเนินการของหลวง งานนี้ก็จะเหนื่อยใจในการชี้แจงอีก เช่นเคย เพราะเราไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ หรือเศรษฐกร)
          เมื่อเรามีแบบมาตราชั้นความเที่ยง I เป็นสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งพร้อมจะไปตรวจสอบความเที่ยง ALG การที่จะดำเนินการได้ก็ต้องย้อนกลับมาว่าถังสำรองที่ติดตั้ง ALG นั้นได้ก่อสร้างได้มาตรฐานตาม API STANDARD 620 Design and Construction of Large, Welded, Low-Pressure Storage Tanks หรือดีกว่า หรือเปล่าละ หากไปดูในภาคสนามแล้วถังสำรองเอียงเอนไปมา รูปทรงบิดไปเว้ามา เห็นว่าหากใส่ของเหลวเข้าไปรูปทรงคงอยู่ตัวคงที่ได้ยาก งานนี้ก็จบลงทันที    ถึงจะติดตั้ง ALG เข้ากับถังสำรองดังกล่าวไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะแนวโน้มที่จะให้ผลการวัดผิดไปมีสูงมากเกินไป ตรวจสอบหรือสอบเทียบ ALG อย่างไรก็ยากได้ผลที่ดี   แต่ถ้าถังสำรองหรือถังเก็บดังกล่าวได้รับการก่อสร้างเป็นไปตาม API STANDARD 620 รูปทรงคงที่โครงสร้างมั่นคงแข็งแรงมีเอกสารรองรับผลงานการสร้างถังสำรอง การติดตั้ง ALG เข้ากับถังสำรองดังกล่าวก็น่าสนใจและมีโอกาสที่จะทำให้ผลการวัดของ ALG ถูกต้องน่าเชื่อถือ แต่ๆยังไม่จบครับ ตัวมาตรฐาน API ก็ยังได้กำหนดมาตรฐานการติดตั้งเข้ากับถังสำรองที่ถูกต้องตามมาตรฐาน API Manual of Petroleum Measurement Standards Chapter 3—Tank Gauging, Section 1B—Standard Practice for Level Measurement of Liquid Hydrocarbons in Stationary Tanks by Automatic Tank Gauging. ตัวอย่างดังในรูปที่ 24.1 ถึงรูปที่ 24.4 แต่บางคนบอกว่า ALG เราไม่ใช่ ALG แบบ Electrically Powered Servo-operated Gauge แต่ของเราเป็น ALG แบบ Tank Radar Gauging มันคนละแบบกัน ดังนั้นจะใช้รูปที่ 24.1 ถึงรูปที่ 24.4 ไม่ได้แล้ว ก็ขอบอกว่าขอให้ปรับใช้ให้เหมาะสมก็แล้วกัน   ออ API ใช้คำว่า Automatic Tank Gauging (ATG) แทน Automatic Level Gauge (ALG) อย่าตกใจไป..
 
 
รูปที่ 24.1 ตัวอย่างการติดตั้ง ALG หรือ ATG ตาม API MPMS Chapter 3.1B
 
 
 
รูปที่ 24.2 ตัวอย่างการติดตั้ง ALG หรือ ATG ตาม API MPMS Chapter 3.1B
 
 
รูปที่ 24.3 ตัวอย่างการติดตั้ง ALG หรือ ATG ตาม API MPMS Chapter 3.1B
 
รูปที่ 24.4 ตัวอย่างการติดตั้ง ALG หรือ ATG ตาม API MPMS Chapter 3.1B
 
 
          เอาละเมื่อถังสำรองได้รับการออกแบบและก่อสร้างแข็งแรงได้มาตรฐาน API STD 620 อีกทั้งได้ติดตั้ง ALG หรือ ATG ถูกต้องตามแนวปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐาน API MPMS Chapter 3.1B การนำสายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งแบบมาตราชั้นความเที่ยง I หรือดีกว่าไปตรวจสอบผลการวัดระดับของเหลวภายในถังสำรองของ ALG ก็น่าจะสำเร็จลุล่วงไป   โดยหวังว่าไม่ว่าเราจะเอาของเหลวเข้าถังสำรองเต็มพิกัดปริมาตรความจุของถังสำรอง หรือถ้าหากเราเอาของเหลวออกจากถังสำรองจนเหลือไม่ถึง 5 % ของพิกัดปริมาตรความจุของถังสำรองแล้วค่าระยะ  Gauge Reference Length ในรูปที่ 18 ไม่เปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี     แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงก็จบข่าว   แต่เรื่องของการทำงาน ALG ไม่จบลงเพียงเท่านี้   เนื่องจากระดับของเหลวที่วัดได้ภายในถังสำรองจะไม่มีประโยน์เลย หากไม่สามารถบ่งบอกค่าเป็นปริมาตรของเหลวภายในถังสำรอง    ดังนั้นจึงต้องไปใช้ “ตารางประจำถังสำรอง (Tank Table)” แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าการจัดทำตารางประจำถังสำรอง (Tank Table) ยังไม่ได้อยู่ในขอบข่ายงานชั่งตวงวัดตามข้อบัญญัติของกฎหมายเนื่องจากเราไม่ได้กำหนดให้ปริมาตรของถังสำรองถือเป็นเครื่องตวงที่ถูกใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมตามมาตรา 25 พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด ดังนั้นถือว่าเป็นช่องว่างอย่างหนึ่ง หรือความไม่ต่อเนื่องในการกำกับดูแลงานชั่งตวงวัดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542  เนื่องจากชั่งตวงวัดกำกับดูแลแต่เฉพาะมาตรวัดความยาวแบบอัตโนมัติสำหรับวัดความสูงของระดับของของเหลวในถังเก็บ หรือ ALG มันเลยเกิดการลักลั่นกันอยู่ ส่งผลให้เราไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปทำการตรวจสอบว่าจัดทำ “ตารางประจำถังสำรอง (Tank Table)” ถูกทำการสอบเทียบปริมาตรของถังสำรองที่มีพิกัดความจุสูงๆ ดังกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่
          ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการทำหน้าที่ถูกต้องเที่ยงตรงของ ALG จึงต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญและต้องถูกต้องเที่ยงตรงและได้มาตรฐานเสียก่อนคือ
1.       ถังสำรองถูกก่อสร้างได้มาตรฐานและรักษาสภาพได้มาตรฐาน ตาม API STD 620 สำหรับการจัดเก็บของเหลวความดันไอต่ำและอุณหภูมิแวดล้อม
2.       การติดตั้ง ALG เข้ากับถังสำรองถูกต้องตาม API MPMS Chapter 3.1B   และตามคำแนะนำของผู้ผลิต ALG
3.       ใช้สายแถบโลหะประกอบลูกดิ่งชั้นความเที่ยง I (OIML R35) หรือดีกว่าเป็นแบบมาตรา และแน่ใจว่าได้ตรวจทานผลการสอบเทียบจากใบรายงานผลสอบเทียบที่ได้รับมา
4.      การสอบเทียบปริมาตรความจุของถังสำรองเพื่อจัดทำ“ตารางประจำถังสำรอง (Tank Table) ถูกต้อง?  สอบเทียบด้วยของเหลวชนิดใด?  หากเราใช้ถังสำรองกับของเหลวที่ค่าความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity; Sp.G.) ที่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับของเหลวที่ถูกใช้ในการจัดทำ “ตารางประจำถังสำรอง (Tank Table)” ก็จะส่งผลให้ “ตารางประจำถังสำรอง (Tank Table)” ขาดความเที่ยงไปเช่นกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปทรงถังสำรองตามความดันสถิตย์ (Static Pressure)   ส่วนการจัดทำ “ตารางประจำถังสำรอง (Tank Table)”  มันมีหลายมาตรฐานเราก็รู้ไม่หมด แต่ยกตัวอย่างเช่น API Standard 2550 Method for Measurement and Calibration of Upright Cylindical Tanks, PTB Testing Instruction, Storage Tanks in the Form of Vertical Cylinders, Dr. Konrad Bonke , Physikalisch-Technische Bundesanstalt (PTB), 1985  เป็นต้น   ดังนั้นหาก ตารางประจำถังสำรองหรือถังเก็บฯ ไม่ถูกต้อง  ผลการทำงานของ ALG  ก็จะผิดตามมาทันที   และแหละโซ่ข้อกลางที่หายไป....
 
หากทำไม่ได้ก็ถือว่า เราไปแสดงละครชาดก  เล่นกับความรู้สึกของประชาชนเล็กน้อยเพื่อให้ความบันเทิงเล็กน้อยครับ....   แล้วกลับบ้าน....  ถ้ารู้เยอะก็หลับไม่สนิท  แต่ถ้ารู้น้อยก็หลับสนิทครับ
 
 
 
 
 
          ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของเครื่องวัดความยาว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด พ.ศ. 2561 กำหนดให้แสดงรายละเอียดข้อมูลที่สำคัญ ๆ บางข้อมูลแต่ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนมากนัก เนื่องจากเครื่องวัดความยาวส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกผลิตภายในราชอาณาจักรไทยการกำหนดที่มากไปอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ แต่หากเครื่องวัดที่ผลิตในประเทศอุตสาหกรรมและเป็นไปตามมาตรฐาน OIML R35   ซึ่งได้กำหนดรูปแบบในการแสดงข้อมูลบนเครื่องวัดความยาว ตัวอย่างเช่นดังในรูปที่ 25 ก็ถือว่าถูกต้องไปกว่าครึ่ง   เพราะที่เหลือก็จะเป็นเรื่องการบริหารจัดการของชั่งตวงวัดตามบริบททั่วๆไป
 

 

 
 
 
.......
.......
 
 
รูปที่ 25 ข้อกำหนดข้อ 10. Inscriptions ใน OIML R35-2007
 
 
 
ดังนั้นการแสดงข้อมูลที่สำคัญๆ จึงควรมีดังต่อไปนี้
1.        พิกัดกำลังความยาว (Capacity) หรือ Nominal length ตาม OIML R35 หรือ Tape Length  เช่น 15 เมตร เป็นต้น การแสดงมีได้ทั้งในรูปของตัวเลขและตัวอักษร หรือตัวเลขและตัวอักษรภายใน “รูปสี่เหลี่ยม” ดังในรูปที่ 26 และรูปที่ 27
2.        ชั้นความเที่ยง (Accuracy Class) ของเครื่องวัดความยาว   ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ เรากำหนดให้เครื่องวัดความยาวอยู่ในชั้นความเที่ยง II  แต่จะดีกว่าชั้นความเที่ยง II ก็ไม่ขัดข้องนะ ดังนั้นการแสดงชั้นความเที่ยง II จึงต้องแสดงไว้เป็นตัวอักษร “II” ภายใน “วงรี” เท่านั้นตาม OIML R35-2007 ตัวอย่างแสดงชั้นความเที่ยงที่สอดคล้องกับ OIML R35-2007 จะเห็นได้ในรูปที่ 26   ส่วนรูปที่ 27 แสดงตัวอักษร “II” ภายในใน “แคปซูล” ซึ่งไม่เป็นไปตาม OIML R35-2007 กำหนด  หากเราไปพิจารณาในกรณีเครื่องชั่งไม่อัตโนมัติการกำหนดชั้นความเที่ยง I, II, III, IIII ตาม OIML R76-1, 2006 นั้นได้กำหนดให้สามารถแสดงชั้นความเที่ยงในรูปแบบแสดงตัวอักษร “I”, “II”, “III” หรือ “IIII” ภายในวงรี หรือแสดงตัวอักษรภายในรูปแบบแคปซูลคือมี 2 เส้นขนานกันแล้วใช้ครึ่งวงกลมปิดหัวปิดท้ายก็ได้ แต่จะห้ามแสดงตัวอักษรภายในวงกลมเพราะจะขัดกับหลักการใน OIML R34-1979 Accuracy classes of measuring instruments ที่กำหนดให้สำหรับการแสดงชั้นความเที่ยงเครื่องชั่งตวงวัดที่มีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดในรูปค่าผลผิดสัมพันธ์คงที่ในค่าของ % ในรูปของตัวอักษรภายในวงกลม
3.        สภาวะอ้างอิง (Reference Condition) ได้แก่ แรงดึง (Tension) และอุณหภูมิอ้างอิง (Reference Temperature) ที่ถูกใช้เป็นค่าอ้างอิงในการระบุความยาวซึ่งปกติจะมีค่าเท่ากับ 20°C เช่น 20N/20°C
4.        สัมประสิทธิ์ขยายตัวเชิงเส้นของชนิดวัสดุที่ใช้ทำสานแถบโลหะหรือบรรทัดตรง (The Thermal Expansion Coefficient of The Material)   โดยปกติแล้วผู้ผลิตจะแสดงอยู่ที่บริเวณระยะพิกัดกำลังของเครื่องวัด ส่วนจะหลบอยู่หน้าหลังอย่างไรก็ต้องค้นหาดู    มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อยากบอกให้ทราบว่า วันหนึ่งเราพบว่าผู้ผลิตระบุว่าโลหะที่ใช้ทำสายแถบโลหะเป็น Stainless Steel 301 ด้วยความซื่อที่ว่าโลหะ Stainless Steel อนุกรม 3XX จะไม่ดูดแม่เหล็ก แต่ปรากฏว่าเมื่อเอาแม่เหล็กมาดูดพบว่ามีแรงดูดเล็กน้อยทำให้เราเกิดความลังเลที่จะใช้ค่าสัมประสิทธิ์ขยายตัวเชิงเส้นของโลหะ Stainless Steel 301 ในการคำนวณผลการสอบเทียบสายแถบโลหะ เล่นเอาวุ่นวายอยู่พักหนึ่ง ค้นไปค้นมาก็เจอเอกสารผู้ผลิตเจ้าไหนลืมไปแล้วให้ข้อมูลว่า ในขั้นตอนการผลิตสายแถบโลหะจากวัสดุ Stainless Steel 301 จะทำให้เม็ดแกรนโลหะปรับเปลี่ยนจนทำให้สามารถเหนี่ยวนำแม่เหล็กจนรู้สึกถึงแรงดูดแม่เหล็กอ่อนๆ ส่วนจะเรียกว่าอะไรอันนี้เราจำไม่ได้ เลยใช้ค่าสัมประสิทธิ์ขยายตัวเชิงเส้นของโลหะ Stainless Steel 301 ในการคำนวณผลการสอบเทียบสายแถบโลหะตามขั้นตอนปกติได้อย่างคลายกังวลจนกว่ามีข้อมูลใหม่เข้ามา
 
สำหรับเครื่องวัดความยาวที่มีจากกลุ่มประเทศยุโรปก็จะมี CE Sign เพิ่มขึ้นมา (หากจากค่ายญี่ปุ่นก็จะมีสัญลักษณ์ JIS) สำหรับผู้ผลิตที่ผ่าน Conformity Assessment โดยจากหน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐ เรียกว่าเป็น Noticed Body ซึ่งแต่ละ Noticed Body จะมีหมายเลขประจำตัว เช่นในกรณี PTB (สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี) จะเป็นหมายเลข 0102 ผู้ผลิตที่ผ่านระบบ Conformity Assessment ดังกล่าวเริ่มต้นด้วย "M"  ตามด้วยเลข 2 ตัวสุดท้ายของปี ค.ศ. เช่น ค.ศ. 2021  ก็ใช้ "21" โดยให้อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม เช่นผู้ผลิต Richter ในที่นี้หมายเลข M21   ส่วนข้อมูลอื่นๆ ก็ค่อยๆอ่านแล้วกันศึกษากันไปนะ ไปหาอ่านใน "Directive 2014/32/EU of The European Parliament and of the Council of 26 February 2014"  โดยเฉพาะใน Annex I, Essential Requirements ครับ
 
รูปที่ 26   การแสดงข้อมูลบนเครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะของผู้ผลิต Richter
 
รูปที่ 27   การแสดงข้อมูลบนเครื่องวัดความยาวชนิดสายแถบโลหะของผู้ผลิต BMI
 
 
          เนื้อหาสาระและที่ไม่ใช่สาระก็เดินทางมาถึง.....สุดทางเลื่อน.. ก็ขอส่งลงเพียงเท่านี้ และขอให้ทุกท่านระมัดระวังว่าเท้าไม่โดนดูดเข้าไปในทางเลื่อน   ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายสุขภาพใจ   และคงรู้ไม่มากก็น้อยแล้วน่ะว่าเครื่องวัดความยาว "ชั้นหนึ่ง" ที่จะถูกใช้เป็น "แบบมาตรา"  คืออะไร     โอ.. เค..  ทำหน้าที่..สุดทางเลื่อน...   แล้วครับ..................สาธุ
 
 
 
 
ชั่งตวงวัด; GOM MOC
นนทบุรี
14 กรกฎาคม 2566

 



จำนวนผู้เข้าชม : 576