มาตรวัดมวลโดยตรงเป็นมาตรวัดปริมาตรของเหลวได้
แต่… มาตรวัดปริมาตรของเหลวไม่สามารถเป็นมาตรวัดมวลโดยตรงได้
มีปัญหาเข้ามา... แต่ภาพยังไม่ชัดเจน หรือความสูญเสีย หรือความเสียหายยังไม่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน คือยังไม่มีเจ้าทุกข์มาร้องเรียน หรือ.... จะด้วยสาเหตุใดๆก็ตามก็ว่าไปนะครับ ครั้นจะเขียนร่ายยาวก็ดูเหมือนจะสร้างความตื่นตระหนกไปเสียเปล่าๆๆ เอาเป็นว่าออกมาปรามๆกันก็แล้วกัน แต่หากไม่เป็นอย่างที่คิดก็ถือว่าเป็นความรู้ข้างเคียงก็แล้วกันครับ
มาตรวัดมวลโดยตรง (Direct Mass Flowmeter หรือ Coriolis Mass Flowmeter) พูดแบบง่ายๆว่ามันมี “เชื้อชาติ” ของมาตรวัดมวลโดยตรงโดยมีหลัการทำงานใช้แรงคลอริออริส (Coriolis Force) สามารถอ่านได้ในหนังสือ "นานาสาระชั่งตวงวัด เล่ม 2" จรินทร, สาธิต สำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นเมื่อสอบเทียบ (Calibration) หรือตรวจสอบให้คำรับรอง (Verification) เราตรวจสอบหาความถูกต้องในการวัด “อัตราการไหลมวล (Mass flowrate)” และรายงานผลหรือตัดสินความถูกต้องของการทำงานของมาตรวัดชนิดนี้ด้วยอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดของ “อัตราการไหลมวล (Mass flowrate)” เช่น 1500 kg/min มี MPE 0.1% mass flowrate เพื่อประกันว่ายังเป็นการทำงานของมาตรวัดมวลโดยตรง หรือพูดง่ายๆว่ามันยังคงมี “สัญชาติ” ของมาตรวัดมวลโดยตรง ทั้งนี้ไปลองอ่านข้อมูลทางเทคนิคของผู้ผลิตฯ เช่น ในข้อมูลสมรรถนะของมาตรวัดฯในเรื่องความเที่ยงของมาตรวัดฯอยู่ในค่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลมวลกับอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลักการจำแนกมาตรวัดฯ ด้วยกัน 2 หลักการ (เท่าที่ทราบในตอนนี้) หลักการแรกใช้การจำแนกผลการวัดปริมาณออกเป็น Mass, Volume และ Hybrid ส่วนหลักการจำแนกที่ 2 ได้ใช้จำแนกจากผลการวัดออกเป็น Flow Rate กับ Flow Quantity ดังรูปทั้ง 2 รูปข้างล่าง
เมื่อสอบเทียบ (Calibration) หรือตรวจสอบให้คำรับรอง (Verification) มาตรวัดมวลโดยตรงด้วยของเหลวตัวกลาง เช่น “น้ำสะอาด” มันก็ยังสามารถนำไปวัด “อัตราการไหลมวล” กับของเหลวที่มีคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของของเหลวนั้นๆ ต่างจาก “น้ำสะอาด” ได้ โดยผู้ผลิตมาตรวัดฯและสถาบันมาตรวิทยาฯ ของประเทศผู้ผลิตรับรอง (แล้วแต่เฉาะรุ่นนะ ต้องตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้มันอาจไม่ใช่ทุกรุ่นหรอกนะ) ว่าสามารถนำไปใช้งานวัด “มวล” และยังให้ผลผิดการวัดในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งจะออกมาเป็นหนังสือรับรอง เป็นต้น ตัวอย่างดังรูปข้างล่าง แต่ผู้ผลิตมาตรวัดฯและสถาบันมาตรวิทยาฯ ของประเทศผู้ผลิตฯไม่ได้รับรองว่าสามารถนำมาตรวัดมวลโดยตรง (Direct Mass Flowmeter หรือ Coriolis Mass Flowmeter) ไปวัดปริมาณของเหลวในหน่วย “ปริมาตร” ซึ่งเป็นหน่วยที่ได้จากการแปลงค่าอัตราการไหลมวลจากค่าที่วัดได้เป็น “มวล (kg)” แล้วแปลงต่อเป็น “ปริมาตร (m3)” จากหัว Transmitter หรือ Flowcom ที่ใช้กับมาตรวัดมวลโดยตรงนั้นๆ
ปัญหาที่เข้ามาสู่การรับรู้คือ เมื่อทำการสอบเทียบ (Calibration) มาตรวัดมวลโดยตรงในหน่วยอัตราการไหลปริมาตร หรือ ปริมาตร ด้วย “น้ำสะอาด” แล้วไปใช้เป็น “แบบมาตรา (Standards)” ในการตรวจสอบให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรของเหลวที่ใช้กับของเหลวผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม งานนี้ก็ลำบากแสนสาหัส.... ตัวใคร่ตัวมันครับ...... ชีวิตการทำงานของท่านต้องรับ “ความเสี่ยง” ที่เกิดขึ้นกันเอาเองนะ..........โดยตนเป็นที่พึ่งของตนเอง..... ผมเตือนมาด้วยใจ... ทั้งนี้ถือว่าเราทิ้งความเป็น มาตรวัดมวลโดยตรง แล้วแปลงสัญชาติไปใช้เป็นมาตรวัดปริมาตรของเหลวซึ่งต้องปฏิบัติตาม “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดปริมาตรของเหลว รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด และอายุคำรับรอง ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562” อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น และที่สำคัญต้องใช้ “ของเหลวทดสอบ” ในการทดสอบมาตรวัดปริมาตรด้วยของเหลวชนิดเดียวกับของเหลวที่จะนำมาตรวัดปริมาตรของเหลวไปใช้งานจริง ส่วนอยู่ในประกาศกระทรวงฯ ข้อไหน ไปอ่านเอาเองก็จะทราบได้ ถ้าท่าน “อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น”
ออ... แต่มาตรวัดปริมาตรของเหลวไม่สามารถแปลงสัญชาติเป็นมาตรวัดมวลโดยตรงได้นะ ยกเว้นมาตรวัดมวลโดยตรงซึ่งต้องการแปลงสัญชาติ "มาตรวัดปริมาตรของเหลว" กลับคืนมาถือสัญชาติ "มาตรวัดมวลโดยตรง" อีกครั้งหนึ่ง คงไม่ต้องทำเรื่องผ่านกระทรวงการต่างประเทศนะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมาตรวัดปริมาตรของเหลวสามารถให้ผลการวัดเป็นมวลได้หากมีส่วนช่วยเสริมการทำงานหรือส่วนแปลงค่า ช่วยในการทำงาน...
สั้นและกระชับ คนจะได้อ่าน ลองปรับดู เพราะถ้ายาวจะขี้เกียจอ่านกัน คนรุ่นใหม่ทนอ่านยาวๆๆ ไม่ได้............... ห่วงใย........ สาธุ..........
ชั่งตวงวัด; GOM MOC
นนทบุรี
9 กันยายน 2566